งานสัมมนา “Think ASEAN, Invest Thailand” ณ นครกว่างโจว

งานสัมมนา “Think ASEAN, Invest Thailand” ณ นครกว่างโจว

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ย. 2565

| 4,029 view

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 55 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “Think ASEAN, Invest Thailand” ณ โรงแรมการ์เดน นครกว่างโจว ในงานสัมมนาดังกล่าว มีแขกทั้งไทยและจีนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ นายประสม แฟงทอง รักษาการกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว นายกวียุทธ์ เยาวพงษ์อารี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ E.C.I Group เครือ CP นายเหลียง เต๋อหัว ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ นครกว่างโจว เป็นต้น

 

โดย น.ส. บังอร ฐิตะไพศาลผล กงสุลฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ได้ขึ้นกล่าวเปิดงานสัมมนา พร้อมแนะนำสถิติการลงทุนของปี 2554 ว่า การลงทุนจากจีนเข้าสู่ประเทศไทยผ่าน BOI มีมูลค่า 564 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับไตรมาสแรกของปี 2555 มีการลงทุนจากจีนแล้ว 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการลงทุนจากจีนเพียง 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 254 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการลงทุนจากจีนไปไทยที่เพิ่มสูงขึ้น

 

หลังจากนั้นนางดลพร ชื่นชลพฤกษ์ นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการได้นำเสนอข้อมูลการลงทุนในประเทศไทย ความพร้อมในการรองรับการลงทุนจากจีนของไทย และนโยบายส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ในการไปลงทุนในประเทศไทย ซึ่งตามการจัดอันดับโดยธนาคารโลก ปี 2554 ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีความง่ายในการเข้าไปทําธุรกิจมากที่สุด (Ease of Doing Business) อันดับที่ 17 ของโลก และอันดับ 3 ของอาเซียน ทั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีระบบโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางทะเลที่สะดวก และมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ต่อจากนั้นนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะและนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของประเทศไทยได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ “A Look at The AEC and China-Thailand Beyond 2015” ซึ่งได้นำประสบการณ์ตรงในด้านการลงทุนระหว่างไทย-จีน และการมองถึงการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งให้ความสำคัญกับตลาดที่มหาศาลของเอเชียเนื่องจากจำนวนประชากรครองสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 62 ของประชากรโลก มีกำลังการบริโภคและมีเงินสะสมจำนวนมาก โดยเฉพาะอาเซียน ถือเป็นฐานการผลิตและคู่ค้าที่สำคัญของประเทศจีน เนื่องจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งแล้ว วัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน สินค้าที่ผลิตได้แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น ในขณะที่จีนครอบคลุมทั้งเขตหนาว อบอุ่น ก็ทำให้มีการเสริมซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือแบบ Win-Win นอกจากนี้ ยังได้กล่าวแนะนำถึงการสำรวจเส้นทางของขบวนคาราวานมูลนิธิอมตะซึ่งมีกำหนดการเดินทางตั้งแต่เดือนมี.ค.-ต.ค. 55 นี้ โดยใช้เส้นทางทางบกจากไทยเข้ากัมพูชา เวียดนาม จีน มองโกเลีย ลาว พม่า และกลับสู่ประเทศไทย รวมระยะทางประมาณ 40,000 ก.ม. ในงานสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและนักธุรกิจที่เข้าร่วมจำนวนมาก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ